หน้าหลัก พ.ร.บ. ต่างๆ
พ.ร.บ. ต่างๆ
พระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540
Download PDF

พระราชบัญญัติ

การบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม
พ.ศ. ๒๕๔๐

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๐
เป็นปีที่ ๕๒ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยมัสยิดอิสลามและกฎหมายว่าด้วยการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้


มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. ๒๕๔๐"


มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป


มาตรา ๓ ให้ยกเลิก

(๑) พระราชบัญญัติมัสยิดอิสลาม พ.ศ. ๒๔๙๐

(๒) พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม พุทธศักราช ๒๔๘๘

(๓) พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๑


มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้

"มัสยิด" หมายความว่า สถานที่ซึ่งมุสลิมใช้ประกอบศาสนกิจโดยจะต้องมีละหมาดวันศุกร์เป็นปกติ และเป็นสถานที่สอนศาสนาอิสลาม

"สัปปุรุษประจำมัสยิด" หมายความว่า มุสลิมที่คณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดมีมติรับเข้าเป็นสัปปุรุษประจำมัสยิด และมีชื่ออยู่ในทะเบียนสัปปุรุษประจำมัสยิด แต่ผู้นั้นจะเป็นสัปปุรุษเกินกว่าหนึ่งมัสยิดในเวลาเดียวกันไม่ได้

"อิหม่าม" หมายความว่า ผู้นำศาสนาอิสลามประจำมัสยิด

"คอเต็บ" หมายความว่า ผู้แสดงธรรมประจำมัสยิด

"บิหลั่น" หมายความว่า ผู้ประกาศเชิญชวนให้มุสลิมปฏิบัติศาสนกิจตามเวลา


มาตรา ๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม* รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ กับออกกฎกระทรวง ระเบียบ ประกาศ และคำสั่ง เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของแต่ละกระทรวง กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

หมวด ๑
บททั่วไป

มาตรา ๖ พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจุฬาราชมนตรีคนหนึ่ง เพื่อเป็นผู้นำกิจการศาสนาอิสลามในประเทศไทย ให้นายกรัฐมนตรีนำชื่อผู้ที่จะดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีซึ่งได้รับความเห็นชอบจากกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นจุฬาราชมนตรี หลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาจุฬาราชมนตรีตามวรรคสองให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ให้มีเงินอุดหนุนฐานะจุฬาราชมนตรีตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา


มาตรา ๗ จุฬาราชมนตรีต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้

(๑) เป็นมุสลิมผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิด

(๒) มีอายุไม่ต่ำกว่าสี่สิบปีบริบูรณ์

(๓) เป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจในศาสนาอิสลามเป็นอย่างดี

(๔) เป็นผู้ประพฤติปฏิบัติตามบัญญัติแห่งศาสนาอิสลามโดยเคร่งครัด

(๕) เป็นผู้มีความสัมพันธ์อันดีกับทุกศาสนา

(๖) เป็นผู้มีความเลื่อมใสในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

(๗) ไม่เป็นหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลาย

(๘) ไม่เป็นผู้เคยถูกจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

(๙) ไม่เป็นผู้ทุพพลภาพจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ไร้ความสามารถหรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือเป็นโรคตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

(๑๐) ไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง


มาตรา ๘ จุฬาราชมนตรีมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(๑) ให้คำปรึกษาและเสนอความเห็นต่อทางราชการเกี่ยวกับกิจการศาสนาอิสลาม

(๒) แต่งตั้งคณะผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อให้คำปรึกษาเกี่ยวกับบัญญัติแห่งศาสนาอิสลาม

(๓) ออกประกาศแจ้งผลการดูดวงจันทร์ตามมาตรา ๓๕ (๑๑) เพื่อกำหนดวันสำคัญทางศาสนา

(๔) ออกประกาศเกี่ยวกับข้อวินิจฉัยตามบัญญัติแห่งศาสนาอิสลาม


มาตรา ๙จุฬาราชมนตรีพ้นจากตำแหน่งเมื่อ

(๑) ตาย

(๒) ลาออก

(๓) มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พ้นจากตำแหน่งเพราะขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๗


มาตรา ๑๐ จุฬาราชมนตรี กรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย กรรมการอิสลามประจำจังหวัด และกรรมการอิสลามประจำมัสยิด มีสิทธิสวมเสื้อครุยและประดับเข็มพระปรมาภิไธย ทั้งนี้ ตามระเบียบว่าด้วยการนั้น


มาตรา ๑๑ เมื่อเห็นสมควร กระทรวงศึกษาธิการอาจจัดตั้ง "อิสลามวิทยาลัย" ขึ้นเพื่อให้การศึกษาและอบรมทางวิชาการศาสนา วิชาการทั่วไป และวิชาชีพได้

หมวด ๒
การจัดตั้งและการลิกมัสยิด

มาตรา ๑๒ การสร้าง การจัดตั้ง การย้าย การรวม การเลิก และการจดทะเบียนมัสยิด ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง การจัดตั้ง การรวม และการเลิกมัสยิด ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา


มาตรา ๑๓ ให้มัสยิดที่ได้จดทะเบียนจัดตั้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้วมีฐานะเป็นนิติบุคคล โดยให้คณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดเป็นผู้แทนของมัสยิดในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก เพื่อการนี้คณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดอาจมอบหมายให้กรรมการคนหนึ่งหรือหลายคนทำการแทนก็ได้


มาตรา ๑๔ มัสยิดที่เป็นนิติบุคคลอาจเลิกได้โดยการจดทะเบียนเลิกมัสยิดต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ บรรดาทรัพย์สินของมัสยิดที่เลิกตามวรรคหนึ่ง ให้โอนไปยังมัสยิดที่เป็นนิติบุคคลที่อยู่ใกล้ที่สุด ถ้าไม่อาจทำได้ให้โอนไปยังมัสยิดที่เป็นนิติบุคคลที่อยู่ในลำดับถัดไป เว้นแต่เป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยมีผู้อุทิศให้ และผู้อุทิศให้ได้แสดงเจตนาไว้เป็นอย่างอื่น


มาตรา ๑๕ มัสยิดที่ได้จดทะเบียนแล้วให้ดำเนินการคัดเลือกกรรมการอิสลามประจำมัสยิดตามหมวด ๕ ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันจดทะเบียน

หมวด ๓
คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย

มาตรา ๑๖ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย” ประกอบด้วยจุฬาราชมนตรีเป็นประธานกรรมการและกรรมการ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ซึ่งเป็นผู้แทนคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด จังหวัดละหนึ่งคน และจากกรรมการอื่นซึ่งคัดเลือกโดยจุฬาราชมนตรีมีจำนวนหนึ่งในสามของจำนวนผู้แทนคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ถ้ามีเศษให้ปัดทิ้ง การคัดเลือกผู้แทนคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด และการคัดเลือกกรรมการอื่นตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง ให้คณะกรรมการเลือกกรรมการด้วยกันเองเป็นรองประธานกรรมการ เลขาธิการ และตำแหน่งอื่นตามความจำเป็น


มาตรา ๑๗ กรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้

(๑) มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๗ ยกเว้น (๒) และ (๑๐)

(๒) มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบปีบริบูรณ์


มาตรา ๑๘ คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(๑) ให้คำปรึกษาแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม*ในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้

(๒) ให้คำปรึกษาหรือข้อแนะนำเกี่ยวกับศาสนาอิสลามแก่คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด และคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด

(๓) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อปฏิบัติงานตามที่คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยมอบหมาย

(๔) ออกระเบียบเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินและการจัดหาผลประโยชน์ของสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดและมัสยิด

(๕) ออกระเบียบวิธีการดำเนินงานและควบคุมดูแลการบริหารงานของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดและคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด

(๖) ปฏิบัติหน้าที่เป็นคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดในจังหวัดที่ไม่มีคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ในการนี้คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยจะมอบหมายให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดที่ใกล้เคียงปฏิบัติหน้าที่แทนก็ได้

(๗) พิจารณาวินิจฉัยคำร้องคัดค้านตามมาตรา ๔๑

(๘) จัดทำทะเบียนทรัพย์สิน เอกสารและบัญชีรายรับรายจ่ายของสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยให้ถูกต้องตามความเป็นจริง

(๙) ออกประกาศและให้คำรับรองเกี่ยวกับกิจการศาสนาอิสลาม

(๑๐) ส่งเสริมสนับสนุนการจัดกิจกรรมทางศาสนา และการศึกษาศาสนาอิสลาม

(๑๑) ประสานงานกับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องในกิจการที่เกี่ยวกับศาสนาอิสลาม

(๑๒) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้


มาตรา ๑๙ กรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งมีวาระการดำรงตำแหน่งหกปี และอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ เมื่อกรรมการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ให้มีการคัดเลือกเพื่อดำเนินการแต่งตั้งใหม่ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันครบกำหนดตามวาระ ในระหว่างที่ยังมิได้มีการแต่งตั้งกรรมการใหม่ ให้กรรมการนั้นปฏิบัติหน้าที่ไปก่อนจนกว่าจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งกรรมการใหม่


มาตรา ๒๐ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๑๙ กรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย พ้นจากตำแหน่งเมื่อ

(๑) ตาย

(๒) ลาออก

(๓) คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยมีมติให้พ้นจากตำแหน่งเพราะขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๗ ในกรณีที่ตำแหน่งกรรมการว่างลงเพราะเหตุอื่นใด นอกจากถึงคราวออกตามวาระให้มีการคัดเลือกและดำเนินการแต่งตั้งกรรมการแทนตำแหน่งที่ว่างภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ตำแหน่งว่าง ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง เว้นแต่ระยะเวลาการดำรงตำแหน่งที่ว่างเหลือไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวันจะไม่คัดเลือกกรรมการแทนตำแหน่งที่ว่างก็ได้กรรมการที่ได้รับแต่งตั้งแทนอยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่าวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน ให้กระทรวงมหาดไทยประกาศรายชื่อกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยที่พ้นจากตำแหน่งในราชกิจจานุเบกษา


มาตรา ๒๑ ในการประชุมคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่จึงจะเป็นองค์ประชุม ถ้าประธานกรรมการไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธานกรรมการปฏิบัติหน้าที่แทน ถ้าประธานกรรมการและรองประธานกรรมการไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม มติของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาดแต่ถ้าเป็นมติให้กรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยพ้นจากตำแหน่ง มติดังกล่าวต้องมีเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่


มาตรา ๒๒ให้มีสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยมีฐานะเป็นนิติบุคคลมีหน้าที่เกี่ยวกับกิจการของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย โดยมีคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยเป็นผู้แทนของสำนักงานในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก เพื่อการนี้คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยอาจมีมติมอบหมายให้กรรมการคนหนึ่งหรือหลายคนทำการแทนก็ได้ และให้เลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยเป็นผู้รับผิดชอบในกิจการของสำนักงาน

หมวด ๔
คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด

มาตรา ๒๓ จังหวัดใดมีราษฎรนับถือศาสนาอิสลามและมีมัสยิดตามมาตรา ๑๓ ไม่น้อยกว่าสามมัสยิด ให้คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยประกาศให้จังหวัดนั้นมีคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดคณะหนึ่งประกอบด้วยกรรมการมีจำนวนไม่น้อยกว่าเก้าคนแต่ไม่เกินสามสิบคน การคัดเลือกกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการให้อิหม่ามประจำมัสยิดในจังหวัดนั้นเป็นผู้คัดเลือก ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง ให้คณะกรรมการเลือกกรรมการด้วยกันเป็นประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ เลขานุการและตำแหน่งอื่นตามความจำเป็น ให้กระทรวงมหาดไทยประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกเป็นประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ เลขานุการ และกรรมการอิสลามประจำจังหวัดในราชกิจจานุเบกษา


มาตรา ๒๔ กรรมการอิสลามประจำจังหวัดต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้

(๑) มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามตามมาตรา ๑๗

(๒) เป็นสัปปุรุษประจำมัสยิดในจังหวัดนั้นมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปีก่อนวันคัดเลือก

(๓) มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดนั้นมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปีก่อนวันคัดเลือก


มาตรา ๒๕ กรรมการอิสลามประจำจังหวัดมีวาระการดำรงตำแหน่งหกปี เมื่อตำแหน่งกรรมการอิสลามประจำจังหวัดว่างลงให้มีการคัดเลือกกรรมการแทนภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ตำแหน่งว่าง ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง เว้นแต่ตำแหน่งกรรมการว่างลงก่อนถึงกำหนดตามวาระไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวัน และยังมีกรรมการเหลืออยู่ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการที่ได้รับการคัดเลือก จะไม่ให้มีการคัดเลือกกรรมการแทนตำแหน่งที่ว่างก็ได้ กรรมการที่ได้รับการคัดเลือกแทนอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน


มาตรา ๒๖ ในจังหวัดที่มีคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(๑) ให้คำปรึกษาและเสนอความเห็นเกี่ยวกับศาสนาอิสลามต่อผู้ว่าราชการจังหวัด

(๒) กำกับดูแลและตรวจตราการปฏิบัติงานของคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดในจังหวัดและจังหวัดอื่นตามที่คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยมอบหมาย

(๓) ประนีประนอมหรือชี้ขาดคำร้องทุกข์ของสัปปุรุษประจำมัสยิดซึ่งเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด

(๔) กำกับดูแลการคัดเลือกกรรมการอิสลามประจำมัสยิดให้เป็นไปโดยเรียบร้อย

(๕) พิจารณาแต่งตั้งและถอดถอนกรรมการอิสลามประจำมัสยิด

(๖) สอบสวนพิจารณาให้กรรมการอิสลามประจำมัสยิดพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา ๔๐ (๔)

(๗) สั่งให้กรรมการอิสลามประจำมัสยิดพักหน้าที่ระหว่างถูกสอบสวน

(๘) พิจารณาเกี่ยวกับการจัดตั้ง การย้าย การรวม และการเลิกมัสยิด

(๙) แต่งตั้งผู้รักษาการแทนในตำแหน่ง อิหม่าม คอเต็บ และบิหลั่น เมื่อตำแหน่งดังกล่าวว่างลง

(๑๐) ออกหนังสือรับรองการสมรสและการหย่าตามบัญญัติแห่งศาสนาอิสลาม

(๑๑) ประนีประนอมข้อพิพาทเกี่ยวกับเรื่องครอบครัวและมรดกตามบัญญัติแห่งศาสนาอิสลามเมื่อได้รับการร้องขอ

(๑๒) จัดทำทะเบียนทรัพย์สิน เอกสารและบัญชีรายรับ รายจ่าย ของสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดให้ถูกต้องครบถ้วนเป็นปัจจุบัน และรายงานผลการดำเนินงานฐานะการเงินและทรัพย์สินให้คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยทราบปีละหนึ่งครั้งภายในเดือนมีนาคมของทุกปี

(๑๓) ออกประกาศและให้คำรับรองเกี่ยวกับกิจการศาสนาอิสลามในจังหวัด


มาตรา ๒๗ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๒๕ กรรมการอิสลามประจำจังหวัดพ้นจากตำแหน่งเมื่อ

(๑) ตาย

(๒) ลาออก

(๓) คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยมีมติให้พ้นจากตำแหน่งเพราะขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๒๔ ให้กระทรวงมหาดไทยประกาศรายชื่อกรรมการอิสลามประจำจังหวัดที่พ้นจากตำแหน่งในราชกิจจานุเบกษา


มาตรา ๒๘ การประชุมคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ให้นำมาตรา ๒๑ มาใช้บังคับโดยอนุโลม


มาตรา ๒๙ ให้มีสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดมีฐานะเป็นนิติบุคคลมีหน้าที่เกี่ยวกับกิจการของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด โดยมีคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเป็นผู้แทนของสำนักงานในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก เพื่อการนี้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดอาจมีมติมอบหมายให้กรรมการคนหนึ่งหรือหลายคนทำการแทนก็ได้ และให้เลขานุการคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเป็นผู้รับผิดชอบในกิจการของสำนักงาน

หมวด ๕
คณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด

มาตรา ๓๐ให้มีคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดคณะหนึ่ง ประกอบด้วย

(๑) อิหม่ามเป็นประธานกรรมการ

(๒) คอเต็บเป็นรองประธานกรรมการ

(๓) บิหลั่นเป็นรองประธานกรรมการ และ

(๔) กรรมการอื่นตามจำนวนที่ที่ประชุมสัปปุรุษประจำมัสยิดนั้นกำหนดจำนวนไม่น้อยกว่าหกคนแต่ไม่เกินสิบสองคน ให้สัปปุรุษประจำมัสยิดซึ่งมีอายุตั้งแต่สิบห้าปีบริบูรณ์ขึ้นไป ประชุมกันคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดเลือกกรรมการตาม (๔) เป็นเลขานุการหนึ่งคน นายทะเบียนหนึ่งคน เหรัญญิกหนึ่งคน และตำแหน่งอื่นตามความจำเป็น ให้ประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดหรือกรรมการอิสลามประจำจังหวัดที่ได้รับมอบหมายจากประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเป็นประธานในที่ประชุมสัปปุรุษประจำมัสยิด เพื่อดำเนินการคัดเลือกกรรมการอิสลามประจำมัสยิด แล้วเสนอคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเพื่อพิจารณาแต่งตั้ง ทั้งนี้ ตามระเบียบที่คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยกำหนด


มาตรา ๓๑ อิหม่าม คอเต็บ และบิหลั่น ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้

(๑) มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๗

(๒) อ่านพระคัมภีร์อัลกุรอานได้ถูกต้อง

(๓) สามารถนำในการปฏิบัติศาสนกิจได้ถูกต้องตามบัญญัติแห่งศาสนาอิสลาม

(๔) มีความสามารถแสดงธรรมได้

(๕) เป็นสัปปุรุษประจำมัสยิดนั้นมาแล้วไม่น้อยกว่าเก้าสิบวันก่อนวันคัดเลือก อิหม่าม คอเต็บ และบิหลั่น ไม่ถือเป็นนักพรตหรือนักบวช การพ้นจากตำแหน่งของ อิหม่าม คอเต็บ และบิหลั่น ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยกำหนด


มาตรา ๓๒ กรรมการตามมาตรา ๓๐ (๔) ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้

(๑) มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๗

(๒) เป็นสัปปุรุษประจำมัสยิดนั้นมาแล้วไม่น้อยกว่าเก้าสิบวันก่อนวันคัดเลือก

(๓) มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดที่มัสยิดนั้นตั้งอยู่ไม่น้อยกว่าเก้าสิบวันก่อนวันคัดเลือก


มาตรา ๓๓ เมื่อตำแหน่งอิหม่าม คอเต็บ หรือบิหลั่น ว่างลง ให้นำวิธีการตามที่บัญญัติในมาตรา ๓๐ มาใช้เพื่อดำเนินการคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวแทนภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ตำแหน่งว่าง


มาตรา ๓๔ กรรมการตามมาตรา ๓๐ (๔) มีวาระการดำรงตำแหน่งสี่ปี เมื่อตำแหน่งกรรมการว่างลง ให้นำวิธีการตามที่บัญญัติในมาตรา ๓๐ มาใช้เพื่อดำเนินการคัดเลือกกรรมการแทนภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ตำแหน่งว่าง เว้นแต่ตำแหน่งกรรมการดังกล่าวว่างลงเนื่องจากคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดมีมติให้พ้นจากตำแหน่งตามมาตรา ๔๐ (๔) และผู้ที่พ้นจากตำแหน่งได้ยื่นคำร้องคัดค้านต่อคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยตามมาตรา ๔๑ ระยะเวลาหนึ่งร้อยแปดสิบวันให้นับแต่วันที่คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยมีมติ ถ้าตำแหน่งกรรมการว่างลงก่อนถึงกำหนดตามวาระไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวันจะไม่ดำเนินการคัดเลือกกรรมการแทนตำแหน่งที่ว่างก็ได้ กรรมการที่ได้รับการคัดเลือกแทนอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน


มาตรา ๓๕ คณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(๑) บำรุงรักษามัสยิดและทรัพย์สินของมัสยิดให้เรียบร้อย

(๒) วางระเบียบปฏิบัติภายในของมัสยิดเพื่อให้การดำเนินงานของมัสยิดเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

(๓) ปฏิบัติตามคำแนะนำชี้แจงของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยและคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดในเมื่อไม่ขัดต่อบัญญัติแห่งศาสนาอิสลามและกฎหมาย

(๔) สนับสนุนสัปปุรุษในการปฏิบัติศาสนกิจ ส่งเสริมให้เกิดความสามัคคีและช่วยเหลือซึ่งกันและกันในทางที่ชอบตามบัญญัติแห่งศาสนาอิสลาม

(๕) พิจารณามีมติรับมุสลิมเข้าเป็นสัปปุรุษประจำมัสยิด

(๖) อำนวยความสะดวกและอบรมสั่งสอนให้สัปปุรุษประจำมัสยิดปฏิบัติศาสนกิจโดยถูกต้องเคร่งครัด

(๗) ประนีประนอมข้อพิพาทระหว่างสัปปุรุษประจำมัสยิดเมื่อได้รับการร้องขอ

(๘) จัดให้มีและรักษาสมุดทะเบียนสัปปุรุษประจำมัสยิด และตรวจตราแก้ไขเพิ่มเติมสมุดทะเบียนดังกล่าวให้ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง

(๙) จำหน่ายชื่อสัปปุรุษประจำมัสยิดออกจากทะเบียน เมื่อได้สอบสวนแล้วปรากฏว่าผู้นั้นกระทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามบัญญัติแห่งศาสนาอิสลาม

(๑๐) จัดให้มีทะเบียนทรัพย์สิน เอกสาร และบัญชีรายรับรายจ่ายของมัสยิดให้ถูกต้องตรงความเป็นจริง และจัดทำรายงานผลการดำเนินงาน ฐานะการเงิน และทรัพย์สินของมัสยิด แล้วรายงานให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทราบภายในเดือนมีนาคมของทุกปี

(๑๑) ดูดวงจันทร์และแจ้งผลการดูดวงจันทร์ต่อคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด

(๑๒) ส่งเสริมการศึกษาและจัดกิจกรรมที่ไม่ขัดต่อบัญญัติแห่งศาสนาอิสลาม


มาตรา ๓๖ สัปปุรุษประจำมัสยิดผู้ถูกจำหน่ายชื่อตามมาตรา ๓๕ (๙) มีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านต่อคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้ประกาศให้จำหน่ายชื่อออกจากทะเบียน และให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดพิจารณาวินิจฉัยให้เสร็จภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องคัดค้าน มติของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดให้เป็นที่สุด การยื่นคำร้องคัดค้านและการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องคัดค้านตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยกำหนด


มาตรา ๓๗ อิหม่ามมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(๑) ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามบัญญัติแห่งศาสนาอิสลาม

(๒) ปกครองดูแลและแนะนำเจ้าหน้าที่ของมัสยิดให้ปฏิบัติงานในหน้าที่ให้เรียบร้อย

(๓) แนะนำให้สัปปุรุษประจำมัสยิดปฏิบัติให้ถูกต้องตามบัญญัติแห่งศาสนาอิสลามและกฎหมาย

(๔) อำนวยความสะดวกแก่มุสลิมในการปฏิบัติศาสนกิจ

(๕) สั่งสอนและอบรมหลักธรรมทางศาสนาอิสลามแก่บรรดาสัปปุรุษประจำมัสยิด


มาตรา ๓๘ คอเต็บมีหน้าที่ปฏิบัติให้เป็นไปตามบัญญัติแห่งศาสนาอิสลามในการแสดงธรรมแก่สัปปุรุษประจำมัสยิด


มาตรา ๓๙ บิหลั่นมีหน้าที่ปฏิบัติให้เป็นไปตามบัญญัติแห่งศาสนาอิสลามในการประกาศเชิญชวนให้มุสลิมปฏิบัติศาสนกิจตามเวลา


มาตรา ๔๐ กรรมการอิสลามประจำมัสยิดพ้นจากตำแหน่งเมื่อ

(๑) ครบกำหนดวาระตามมาตรา ๓๔ วรรคหนึ่ง สำหรับกรรมการอื่นตามมาตรา ๓๐ (๔) ในคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด

(๒) ตาย

(๓) ลาออก

(๔) คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดมีมติให้พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๓๒

(๕) สัปปุรุษประจำมัสยิดตามมาตรา ๓๐ วรรคสอง จำนวนเกินกว่ากึ่งหนึ่งยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดขอให้พ้นจากตำแหน่ง และคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสอบสวนและวินิจฉัยแล้วมีมติให้พ้นจากตำแหน่ง

(๖) คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสอบสวนแล้วเห็นว่ามีความประพฤติในทางที่จะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียแก่มัสยิด หรือบกพร่องต่อหน้าที่ หรือดำเนินกิจการของมัสยิดไปในทางไม่สงบเรียบร้อย หรือขัดต่อหลักการของศาสนาอิสลาม หรือกระทำการอันอาจเสื่อมเสียประโยชน์ของมัสยิด และคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดวินิจฉัยแล้วมีมติให้พ้นจากตำแหน่ง ในกรณีที่สอบสวนแล้วเห็นว่าพฤติการณ์แห่งความผิดที่ได้กระทำยังไม่ถึงขั้นให้พ้นจากตำแหน่ง คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดอาจวินิจฉัยให้ภาคทัณฑ์ไว้ก่อนก็ได้


มาตรา ๔๑ กรรมการอิสลามประจำมัสยิดซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา ๔๐ (๔) (๕) และ (๖) มีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านต่อคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับทราบคำสั่ง และให้คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยพิจารณาวินิจฉัยให้เสร็จภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องคัดค้าน มติของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยให้เป็นที่สุด การยื่นคำร้องคัดค้าน และการวินิจฉัยคำร้องคัดค้านตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยกำหนด


มาตรา ๔๒ การประชุมคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด ให้นำมาตรา ๒๑ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

บทเฉพาะกาล

มาตรา ๔๓ ให้ผู้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ดำรงตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา ๙ ให้กรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยและกรรมการอิสลามประจำจังหวัดซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับดำรงตำแหน่งต่อไปอีกสองปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้กรรมการอิสลามประจำมัสยิดซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับดำรงตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา ๔๐


มาตรา ๔๔ ให้มัสยิดซึ่งได้จดทะเบียนตามพระราชบัญญัติมัสยิดอิสลาม พ.ศ. ๒๔๙๐ เป็นมัสยิดตามมาตรา ๑๓ แห่งพระราชบัญญัตินี้


มาตรา ๔๕ ให้ "อิสลามวิทยาลัยแห่งประเทศไทย" ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม พุทธศักราช ๒๔๘๘ เป็นอิสลามวิทยาลัยตามพระราชบัญญัตินี้


ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ

นายกรัฐมนตรี


หมายเหตุ : เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากพระราชบัญญัติมัสยิดอิสลาม พ.ศ. ๒๔๙๐ พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม พุทธศักราช ๒๔๘๘ และพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๑ ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานไม่เหมาะสมกับสภาวการณ์ปัจจุบัน สมควรปรับปรุงให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้




Download PDF



Web Link สนง.ฯ

ผู้สนับสนุน สนง.ฯ
อินซานโพสต์ สื่อสร้างสรรค์ สร้
สมาคมสตรีมุสลิมจังหวัดกระบี่
สถานีกระจายเสียงสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดกระบี่
อ่าวนางปริ้นซ์วิลล์ รีสอร์ท

ข้อมูลร้านอาหาร
ข้อมูลเพิ่มเติม : www.thaihalal.info

Web Link
อัฟยอด
ทำเนียบมัสยิดกระบี่
อิสลามแห่งประเทศไทย
สนง. คณะกรรมการอิสลาม กทม.
สมาคมสตรีมุสลิมจังหวัดกระบี่