หน้าหลัก ประมวลภาพกิจกรรมทั้งหมด ประมวลภาพกิจกรรม สนง. คณะกรรมการฯ ประมวลภาพกิจกรรมมัสยิดฯ
ประมวลภาพกิจกรรมทั้งหมด
ยิ่งใหญ่อีกครั้ง ชาวกระบี่ร่วมต้อนรับรอมฎอน ครั้งที่ 9
ยิ่งใหญ่อีกครั้ง ชาวกระบี่ร่วมต้อนรับรอมฎอน ครั้งที่ 9
10 พค. 2561 ที่มัสยิดกลางจังหวัดกระบี่ กว่า 800 ชีวิต ร่วมงาน ต้อนรับรอมฎอน ครั้งที่ 9 ฮิจเราะห์ศักราช 1439 ในพิธีเปิดงานได้รับเกียรติจากผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ หม่อมหลวงกิตติบดี ประวิตร นายยกองค์การบริหารส่วนจังหวัด นายสมศักดิ์ กิตติธรกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ นายสมควร ขันเงิน และหัวหน้าภาคส่วนราชการ ผู้นำท้องถิ่น ท้องที่ ผู้นำศาสนา สตรีมุสลิม นักธุรกิจ ร่วมงาน

อัลเลาะฮ์ตะอาลาได้กำหนดให้การถือศีลอดเป็นฟัรฎูเหนือมุสลิมทั้งหลาย พระองค์ได้ทรงตรัสว่า

يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا كُتِبَ عَلَيْكُمُ الصِّيَامُ...

“โอ้ผู้ศรัทธาทั้งหลาย การถือศีลอดนั้นได้ถูกกำหนด(เป็นฟัรฎู) แก่พวกเจ้า...” [อัลบะก่อเราะฮ์: 183]

และการถือศีลอดนั้นเป็นหลักการพื้นฐานข้อหนึ่งของอิสลามซึ่ง อิสลามของบุคคลหนึ่งจะไม่สมบูรณ์หากปราศจากการถือศีลอด ท่านนะบีย์ได้กล่าวว่า “อิสลามนั้นถูกสร้างอยู่บนพื้นฐานห้าประการ...” และหนึ่งในนั้นคือ “...การถือศีลอดเดือนร่อมะฎอน” (หะดีษรายงานโดยอัลบุคอรีย์, ฮะดีษเลขที่ 7, และมุสลิม, ฮะดีษเลขที่ 20)

ดังนั้น การที่อัลเลาะฮ์ตะอาลาได้ทรงให้การถือศีลอดอยู่ในเดือนร่อมะฎอนเป็นการเฉพาะนั้นย่อมมีความประเสริฐอันมากมาย และพระองค์ได้ทรงทำให้เดือนนี้เป็นหัวหน้าของเดือนทั้งหลาย ท่านนะบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมได้กล่าวว่า “หัวหน้าของเดือนทั้งหลายคือ ร่อมะฎอน” (รายงานโดยอัลบัยฮะกีย์, ชุอะบุลอีมาน, เล่ม 1 หน้า 355) ดังนั้นในเดือนร่อมะฎอนจึงมีการอภัยโทษ การลบล้างความผิดพลาด .... การยกฐานันดร การเพิ่มพูนความดีงามเท่าทวีคูณ การตอบรับดุอาอฺ การปลดปล่อยจากไฟนรก นอกจากนั้นยังมีความบะร่อกะฮ์ และความดีงามและความเมตตาอันมากมาย

2. การประทานอัลกุรอานในเดือนร่อมะฎอน

อัลเลาะฮ์ตะอาลาได้ทรงประทานความพิเศษให้แก่เดือนร่อมะฎอนด้วยการประทานอัลกุรอานในเดือนนี้ พระองค์ได้ทรงตรัสว่า

شَهْرُ رَمَضَانَ الَّذِي أُنْزِلَ فِيهِ الْقُرْآنُ هُدًى لِلنَّاسِ وَبَيِّنَاتٍ مِنَ الْهُدَى وَالْفُرْقَانِ...

“เดือนร่อมะฎอนนั้น เป็นเดือนที่อัลกุรอานได้ถูกประทานลงมาเป็นทางนำสำหรับมนุษย์ และเป็นหลักฐานอันชัดแจ้งเกี่ยวกับทางนำนั้น และเกี่ยวกับสิ่งที่จำแนกระหว่างความจริงกับความเท็จ ..” [อัลบะก่อเราะฮ์: 185]

ท่านอิบนุอับบาส ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุมา ได้กล่าวว่า “อัลกุรอานนั้นถูกประทานลงมาทั้งหมดคราวเดียวจากเลาฮิลมะห์ฟูซ ในคืนลัยละตุลก็อดร์ของเดือนร่อมะฎอน โดยถูกวางไว้ ณ บัยตุลอิซซะฮ์ ในชั้นฟ้าของดุนยา ภายหลังญิบรีลจะทยอยนำลงมายังท่านนะบีย์มุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม .... ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในช่วงเวลา 23 ปี” (ตัฟซีร อิบนุกะษีร, เล่ม 5 หน้า 127)

3. สรรพสิ่งทั้งหลายเฉลิมฉลองร่อมะฎอน และมีความดีงามอันมากมายในเดือนนี้

ในเดือนร่อมะฎอนนี้บรรดาประตูแห่งความดีงามทั้งหลายจะถูกเปิด และบรรดาประตูแห่งความชั่วร้ายจะถูกปิด ดังกล่าวนี้ได้ถูกอธิบายโดยท่านร่อซูลุลเลาะฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม

إِذَا جَاءَ رَمَضَانُ فُتِّحَتْ أَبْوَابُ الْجَنَّةِ وَغُلِّقَتْ أَبْوَابُ النَّارِ وَصُفِّدَتْ الشَّيَاطِينُ

“เมื่อร่อมะฎอนมาถึง บรรดาประตูของสวรรค์จะถูกเปิด และบรรดาประตูของนรกจะถูกปิดและชัยฏอนถูกล่าม” (รายงานโดยมุสลิม, ฮะดีษเลขที่ 1079)

คำว่า [فُتِّحَتْ] “ถูกเปิด” นั้นสามารถตีความได้ตามความหมายแบบผิวเผิน ดังนั้น มันจึงเป็นเครื่องหมายหนึ่งที่บ่งชี้ถึงความบะร่อกะฮ์ของเดือน และความดีงามอันเป็นความหวังของผู้ปฏิบัติอะมัล และสามารถตีความได้อีกเช่นกันว่า เป้าหมายของ “การเปิดประตูสวรรค์” นั้นคือ ความมากมายมหาศาลของผลบุญของการถือศีลอดและการปฏิบัติอะมัลในเดือนนี้ ก็นำไปสู่สวรรค์ และคำว่า “และประตูนรกถูกปิด” หมายถึง ความมากมายของการอภัยโทษและไม่ถือสาเอาความผิด” และคำว่า [صُدِّفَتْ] หมายถึง การล่ามด้วยโซ่ตรวน (อัลมุนตะกอ ชัรหุลมุวัฏเฏาะอ์, 2/75)

หากมีผู้กล่าวว่า ยังมีการทำชั่วและการฝ่าฝืนมากมายในเดือนร่อมะฎอน ถ้าหากว่าชัยฏอนถูกล่ามแล้ว สิ่งดังกล่าวนี้ย่อมไม่เกิดขึ้น เราขอตอบว่า ดังกล่าวนี้หมายถึงสำหรับผู้ที่ถือศีลอดที่รักษาไว้ซึ่งหลักเกณฑ์และมารยาทต่างๆ ของการถือศีลอด บางคนกล่าวว่า ที่ถูกล่ามโซ่นั้นคือ บางส่วนของชัยฎอนที่ร้ายกาจ ไม่ใช่ทั้งหมด ดังนั้นเป้าหมายของการล่ามชัยฎอนก็คือ การทำให้ความชั่วน้อยลงในเดือนนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราสามารถสัมผัสได้ว่า ในเดือนร่อมะฎอนนั้นความชั่วจะน้อยกว่าเดือนอื่นๆ

และบางคนกล่าวว่า ไม่จำเป็นว่า การล่ามโซ่ชัยฎอนทั้งหมด จะทำให้ไม่มีความชั่วและการฝ่าฝืนเกิดขึ้นเลย เพราะยังมีสาเหตุอื่นๆ อีกสำหรับการทำชั่วและการฝ่าฝืน เช่น นัฟซูที่โสมม นิสัยที่น่ารังเกียจ และชัยฏอนในคราบมนุษย์ (อุมดะตุลกอรี, 10/386)

4. มีคืนลัยละตุลก็อดร์

อัลเลาะฮ์ตะอาลาได้ทรงประทานความประเสริฐแก่เดือนร่อมะฎอนด้วยคืนลัยละตุลก็อดร์ โดยการที่พระองค์ได้ทรงทำให้มันอยู่ในคำคืนหนึ่งของเดือนอันจำเริญนี้ และมันคือค่ำคืนที่อัลเลาะฮ์ได้ทรงประทานอัลกุรอานให้แก่ท่านนะบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม และทำให้มันมีความพิเศษกว่าคืนอื่นๆ ทั่วไป พระองค์ได้ทรงตรัสอย่างชัดเจนถึงเรื่องนี้ในอัลกุรอาน และอธิบายลักษณะของมันว่ามีความบะร่อกะฮ์ และดีกว่าคืนอื่นๆ ถึง หนึ่งพัน เดือน

อัลเลาะฮ์ทรงตรัสว่า

إِنَّا أَنْزَلْنَاهُ فِي لَيْلَةٍ مُبَارَكَةٍ إِنَّا كُنَّا مُنْذِرِينَ

“แท้จริงเราได้ประทานอัลกุรอานลงมาในคืนอันจำเริญ แท้จริงเราเป็นผู้ตักเตือน” [อัดดุคอน: 3]

และพระองค์ทรงตรัสเช่นกันว่า

إِنَّا أَنْزَلْنَاهُ فِي لَيْلَةِ الْقَدْر وَمَا أَدْرَاكَ مَا لَيْلَةُ الْقَدْر لَيْلَةُ الْقَدْرِ خَيْرٌ مِنْ أَلْفِ شَهْرٍ تَنَزَّلُ الْمَلائِكَةُ وَالرُّوحُ فِيهَا بِإِذْنِ رَبِّهِمْ مِنْ كُلِّ أَمْرٍ سَلامٌ هِيَ حَتَّى مَطْلَعِ الْفَجْرِ

“แท้จริงเราได้ประทานอัลกุรอานลงมาในคืน อัลก็อดร์ และอะไรเล่าจะทำให้เจ้ารู้ได้ว่า คืนอัลก็อดร์นั้นคืออะไร คืนอัลก็อดร์นั้นดียิ่งกว่าหนึ่งพันเดือน บรรดามะลาอิกะอ์และอัรรูห์ (ญิบรีล) จะลงมาในคืนนั้น โดยอนุมัติแห่งพระเจ้าของพวกเขา เนื่องจากกิจการทุกสิ่ง คืนนั้นมีความศานติจนกระทั่งรุ่งอรุณ” [อัลก็อดร์: 1-5]

และความหมายก็คือ การปฏิบัติอะมัลที่ดีงามในคืนนี้ดีกว่าการปฏิบัติอะมัลในหนึ่งพันเดือนที่ไม่มีคืนลัยละตุลก็อดร์ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะอัลเลาะฮ์ตะอาลาประสงค์ให้คืนนี้มีประเภทต่างๆ ของความดีงามและบะร่อกะฮ์ มีคุณประโยชน์และการประทานริสกีต่างๆ มากมาย

5. มีการปฏิบัติความดีมากมายที่เป็นซุนนะฮ์เจาะจงสำหรับเดือนร่อมะฎอน

เนื่องจากว่า อัลเลาะฮ์ตะอาลาได้ทรงเฉพาะให้แก่เดือนร่อมะฎอนซึ่งการประทานดีงามให้ต่างๆ อย่างเหลือคณานับ ดังนั้นจึงมีการปฏิบัติดีงามมากมายที่สนับสนุนให้กระทำในเดือนนี้ อาทิ เช่น

- ทำการทบทวนอัลกุรอานและอ่านให้มากๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามค่ำคืน อัลเลาะฮ์

ตะอาลา ทรงตรัสว่า

إِنَّ نَاشِئَةَ اللَّيْلِ هِيَ أَشَدُّ وَطْئًا وَأَقْوَمُ قِيلاً

“แท้จริงการที่(จิตใจ)ได้ตื่นขึ้นมาในเวลากลางคืน เป็นเวลาที่มีความหนักแน่นยิ่ง และเป็นการอ่านที่ชัดเจนยิ่ง” [อัลมุซซัมมิล: 6]

กล่าว คือ จิตใจที่ตื่นขึ้นมาในเวลากลางคืนนั้น คือจิตใจที่เวลากลางคืนได้ขัดเกลาและปลุกให้ตื่นขึ้นมาอ่านอัลกุรอาน มันเป็นกระแสความคิดและความรู้สึกที่มาจากรัศมีนำทางจิตใจเพื่อเข้าหาอัลเลาะฮ์ในยามกลางคืน ตามที่ท่านอัลฟัครุดดีน อัรรอซีย์ได้กล่าวเอาไว้ในตัฟซีรของท่าน (มะฟาติหุลฆ็อบ, 30/175-176) ดังนั้นนูรรัศมีแห่งอัลกุรอานในยามค่ำคืนที่ได้ปลุก ขัดเกลา และจัดระบบจิตใจให้มีความหนักแน่นและมั่นคง ทำให้จิตใจสามารถรับรู้และประสบความสำเร็จในการได้มาซึ่งรัศมี(ทางนำ)แห่งอัลกุรอาน และยังเป็นการอ่านที่ชัดเจนยิ่ง เนื่องจากมีความบริสุทธิ์ใจให้เกิดขึ้นในการอ่านและดุอาจะถูกตอบรับเป็นพิเศษ... และในบางกิรออะฮ์ที่ถูกต้องอ่านว่า [وَهِيَ أَشَدُّ وِطْئاً] หมายถึง มีความสอดคล้องและต่อเนื่อง ซึ่งความสอดคล้องและต่อเนื่องนี้ได้เกิดขึ้นระหว่างหัวใจ ลิ้น และบรรดาอวัยวะในขณะที่อ่านอัลกุรอาน ดังนั้นก็ปรากฏเฉกเช่นเดียวกันซึ่งความสอดคล้องระหว่างคำสั่งใช้ของศาสนาให้อ่านอัลกุรอานในตอนกลางคืนกับสภาวะจิตใจที่มีความหนักแน่นและมั่นคงในการได้รับรัศมีทางนำของอัลกุรอาน ดังนั้นทุกครั้งที่มุสลิมคนหนึ่งได้อ่านอัลกุรอานในยามค่ำคืน ความสอดคล้องและต่อเนื่องนี้จะเพิ่มทวีคูณยิ่งขึ้น และยังจะเพิ่มทวียิ่งขึ้นไปอีกเมื่อได้อ่านอัลกุรอานในค่ำคืนของเดือนร่อมะฎอน จนกระทั่งถึงคืนลัยละตุลก็อดร์ซึ่งเป็นคืนที่ยิ่งใหญ่กว่าหนึ่งพันเดือน และในหะดีษระบุว่า “แท้จริงท่านญิบรีล อะลัยฮิสลาม ได้พบกับท่านนะบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ในทุกคืนของเดือนร่อมะฎอน แล้วท่านนะบีย์ก็ทำการทบทวนอัลกุรอานกับท่านญิบรีล” (รายงานโดยอัลบุคอรีย์, ฮะดีษเลขที่ 6, และมุสลิม, ฮะดีษเลขที่2308)

- การอ่านอัลกุรอานให้จบเล่ม (ค็อตมุลกุรอาน)

ส่วนหนึ่งจากแบบอย่างอันดีงามของชาวสะลัฟ ( ริฎวานุลลอฮิอะลัยฮิม) ก็คือการพยายามที่จะค่อตัมอัลกุรอานในเดือนร่อมะฎอน เพื่อเป็นการระลึกถึงท่านร่อซูลุลเลาะฮ์ ศ็อลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม มีรายงานจากท่านอิบนุอับบาส ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุมา ว่า “แท้จริงท่านร่อซูลุลเลาะฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม นั้นอัลกุรอานจะถูกนำเสนอแก่ท่านหนึ่งครั้งในทุกร่อมะฎอน นอกจากปีที่ท่านเสียชีวิต โดยในปีนั้นอัลกุรอานถูกนำเสนอ(ทบทวน)ให้แก่ท่านสองครั้ง” (รายงานโดยอัลบุคอรีย์, ค็อลกุ อัฟอาลิลอิบาด, หน้า 74)

และท่านร่อซูลุลเลาะฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ถูกถามว่า การงานใดที่เป็นที่รักยิ่ง ณ อัลเลาะฮ์ตะอาลา ท่านตอบว่า “อัลห้าล อัลมุรตะหิล” เขากล่าวว่า “โอ้ท่านร่อซูลุลเลาะฮ์ และอะไรคือ อัลห้าล อัลมุรตะหิล?” ท่านร่อซู้ลตอบว่า “การเริ่มอ่านอัลกุรอานและการปิดท้ายมันจากตอนต้นจนถึงตอนท้าย และจากตอนท้ายจนถึงตอนต้น(คือเมื่ออ่านอัลกุรอานจบแล้วก็อ่านซูเราะฮ์อัลฟาติฮะฮ์และช่วงต้นของซูเราะฮ์อัลบะกอเราะฮ์ทิ้งท้าย) ทุกครั้งที่มีการลงพัก ย่อมมีการเดินทางต่อไป” (รายงานโดยอัดดาริมีย์, สุนัน อัดดาริมีย์, เล่ม 2 หน้า 56)

และส่วนหนึ่งจากสิ่งที่มีรายงานมาจากการปฏิบัติของบรรดาศ่อฮาบะฮ์ในเรื่องนี้ คือ ท่านก่อตาดะฮ์ จะทำการค่อตัมอัลกุรอานในเดือนร่อมะฎอนหนึ่งครั้งในทุกๆ สามคืน และเมื่อเข้าช่วงสิบวันสุดท้าย ท่านจะค่อตัมหนึ่งครั้งทุกคืน

- การบริจาคทาน

ถือเป็นการปฏิบัติอันยิ่งใหญ่ที่มุสลิมจะได้รับผลบุญอันมากมาย อัลเลาะฮ์ตะอาลาได้ทรงตรัสว่า

وَسَارِعُوا إِلَى مَغْفِرَةٍ مِنْ رَبِّكُمْ وَجَنَّةٍ عَرْضُهَا السَّمَاوَاتُ وَالأرْضُ أُعِدَّتْ لِلْمُتَّقِينَ الَّذِينَ يُنْفِقُونَ فِي السَّرَّاءِ وَالضَّرَّاءِ وَالْكَاظِمِينَ الْغَيْظَ وَالْعَافِينَ عَنِ النَّاسِ وَاللَّهُ يُحِبُّ الْمُحْسِنِينَ

“และพวกเจ้าจงรีบเร่งกันไปสู่การอภัยโทษจากพระเจ้าของพวกเจ้า และไปสู่สวรรค์ซึ่งความกว้างขวางของมันนั้นคือบรรดาชั้นฟ้าและแผ่นดิน โดยที่มันถูกเตรียมไว้สำหรับบรรดาผู้ที่ยำเกรง คือบรรดาผู้ที่บริจาคทั้งในยามสุขสบายและในยามเดือดร้อน และบรรดาผู้ข่มโทสะ และบรรดาผู้ให้อภัยแก่เพื่อนมนุษย์ และอัลเลาะฮ์นั้นทรงรักผู้กระทำดีทั้งหลาย [อาลิอิมรอน: 133-134]

ท่านร่อซูลุลเลาะฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า

“ผู้ใดก็ตามที่ทำการบริจาคทานเทียบเท่าอินทผลัมเม็ดหนึ่งจากสิ่งที่เขาหามาได้อย่าง(สุจริต) และอัลเลาะฮ์นั้นไม่ตอบรับนอกจากสิ่งที่ดีงามเท่านั้น และแท้จริงอัลเลาะฮ์นั้นจะตอบรับมันด้วยพระหัตถ์ขวา (หมายถึงทรงพึงพอพระทัยและทรงตอบรับเป็นพิเศษ) หลังจากนั้นพระองค์จะทรงดูแลมัน(ให้เจริญงอกงามและเพิ่มพูนผลการตอบแทน)แก่เจ้าของของมัน ดังเช่นที่คนหนึ่งจากพวกท่านเลี้ยงดูลูกม้าตัวเล็กๆ ของพวกเขา จนกระทั่งมันมีขนาดประหนึ่งภูเขา” (รายงานโดยอัลบุคอรีย์, ฮะดีษเลขที่ 1344, และมุสลิม, ฮะดีษเลขที่ 1014)

แม้ว่าการศ่อดะเกาะฮ์โดยรวมแล้วจะมีความประเสริฐ แต่การศ่อดะเกาะฮ์ในเดือนร่อมะฎอนนั้นมีความประเสริฐกว่าในเดือนอื่นๆ มีรายงานจากท่านอะนัส ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่า “ท่านร่อซูลุลเลาะฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมได้ถูกถามว่า ศ่อดะเกาะฮ์ใดที่ประเสริฐที่สุด? ท่านตอบว่า ศ่อดะเกาะฮ์ในเดือนร่อมะฎอน” (รายงานโดยอัตติรมีซีย์, ฮะดีษลำดับที่ 663)

- การละหมาดตะรอวีห์

การละหมาดตะรอวีห์ถือเป็นซุนนะฮ์ของท่านนะบีย์ในพื้นฐานเดิมของมัน และเป็นซุนนะฮ์ (แนวทางของค่อลิฟะฮ์ผู้ทรงธรรม) ของท่านอุมัรในรูปแบบวิธีการปฏิบัติ ท่านร่อซูลุลเลาะฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า “ผู้ใดก็ตามที่ละหมาดตอนกลางคืนของเดือนร่อมะฎอนด้วยความศรัทธา (เชื่อในภาคผลที่ได้ระบุรายงานมา) และมุ่งหวัง (บริสุทธิ์ใจต่ออัลเลาะฮ์) บาปที่เขาได้เคยกระทำมาจะถูกอภัยโทษให้แก่เขา” (รายงานโดยอัลบุคอรีย์, ฮะดีษลำดับที่ 37, และมุสลิม, ฮะดีษเลขที่ 759)

ท่านอัลฮากิมได้รายงานจากอันนุอฺมาน บิน บะชีร ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุมา เขาได้กล่าวว่า “เราได้เคยละหมาดตอนกลางคืน พร้อมกับท่านร่อซูลุลเลาะฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ในเดือนร่อมะฎอนคืนที่ 23 จนถึงหนึ่งในสามของคืน หลังจากนั้น เราก็ได้ละหมาด พร้อมกับท่านในคืนที่ 25 จนถึงครึ่งหนึ่งของคืน หลังจากนั้นเราก็ได้ละหมาดพร้อมกับท่านร่อซูลในคืนที่ 27 จนกระทั่งเราคิดว่าเราจะไม่ทันอัลฟะลาห์ เราเรียกมันว่า อัลฟะลาห์ พวกท่านเรียกมันว่า อัสสะหูร (อาหารยามดึก)” ท่านอัลฮากิมได้กล่าวว่า “ดังกล่าวนี้เป็นหลักฐานที่ชัดเจนว่า การละหมาดตะรอวีห์ในมัสยิดร่วมกับบรรดามุสลิมีนทั้งหลายนั้นเป็นซุนนะฮ์ที่ถูกวางแบบฉบับเอาไว้และท่านอะลีย์บินอบีฏอลิบ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้เร่งเร้าท่านอุมัร ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ให้ดำรงไว้ซึ่งซุนนะฮ์ดังกล่าวนี้ จนกระทั่งท่านอุมัรได้กระทำสิ่งดังกล่าว” (อัลมุสตัดร็อก อะลัศศ่อฮีฮัยน์, เล่ม1 หน้า 607)

- การให้อาหารละศีลอดแก่ผู้ถือศีลอด

ท่านร่อซูลุลเลาะฮ์ ศ็อลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า “ผู้ใดก็ตามที่ให้อาหารละศีลอดแก่ผู้ถือศีลอดคนหนึ่ง เขาก็จะได้รับผลบุญเหมือนกับที่ผู้ถือศีลอดได้รับ ไม่มีสิ่งใดที่จะพร่องไปจากผลบุญของผู้ถือศีลอดแม้แต่น้อย” (รายงานโดยอัตติรมีซีย์, ฮะดีษลำดับที่ 807) และไม่มีเงื่อนไขให้มุสลิมต้องแบกรับเกินความสามารถของเขาในการให้อาหารแก่พี่น้องของเขา แต่ทว่าผลบุญของการให้อาหารละศีลอดแก่ผู้ถือศีลอดนั้นจะได้มาด้วยสิ่งเล็กๆ น้อยๆ เพื่อทำให้ผู้คนทั้งหลายเคยชินกับการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ อาทรต่อกัน และรวมตัวกันในเวลาเช่นนี้ เพราะมันเป็นช่วงเวลาของการซิเกร การตอบรับดุอาอ์ และความเบิกบานด้วยการละศีลอด

ท่านร่อซูลุลเลาะฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมได้กล่าวว่า

“ใครก็ตามที่ให้อาหารละศีลอดแก่ผู้ถือศีลอดในเดือนนี้ จะมีการอภัยโทษให้แก่บาปต่างๆ ของเขาและปลดปล่อยต้นคอของเขาจากไฟนรก และสำหรับเขานั้นจะได้รับผลบุญเสมือนกับผู้ถือศีลอดโดยไม่มีสิ่งใดพร่องไปแม้แต่น้อย” พวกเขากล่าวว่า “โอ้ท่านร่อซูลุลเลาะฮ์ ไม่ใช่ว่าเราทุกคนจะมีสิ่งที่จะให้เป็นอาหารละศีลอดแก่ผู้ถือศีลอด” ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า “อัลเลาะฮ์จะให้ผลบุญดังกล่าวนี้แก่ผู้ที่ให้อาหารละศีลอดแก่ผู้ถือศีลอดในเดือนร่อมะฎอนด้วยการลิ้มรสครั้งหนึ่งของนม หรือผลอินทผลัมสักเมล็ดหนึ่ง หรือน้ำสักอึกหนึ่ง และผู้ใดก็ตามที่ให้อาหารละศีลอดแก่ผู้ละศีลอดคนหนึ่งจนอิ่ม เขาก็จะได้รับการอภัยโทษจากบาปต่างๆ ของเขา และพระองค์จะทรงให้น้ำเขาจากบ่อน้ำของฉันเป็นการดื่มที่จะไม่มีการกระหายน้ำอีกเลยหลังจากนั้น และสำหรับเขานั้นจะได้รับผลบุญเสมือนกับผลบุญของผู้ถือศีลอด โดยไม่มีสิ่งใดพร่องไปเลยแม้แต่น้อย” (รายงานโดยอิบนุคุซัยมะฮ์, ซอฮิห์อิบนุคุซัยมะฮ์, เล่ม 3 หน้า 191)

- การทำอุมเราะฮ์

ซึ่งเทียบเท่ากับการทำฮัจญ์ในด้านของผลบุญเมื่อกระทำในเดือนร่อมะฎอน (แต่ไม่ได้ทำให้ฟัรฎูของการทำฮัจญ์หมดไป) ท่านร่อซูลุลเลาะฮ์ ศ็อลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า “การทำอุมเราะฮ์ในร่อมะฎอนเทียบเท่าการทำฮัจญ์” (รายงานโดยอัลบุคอรีย์, ฮะดีษเลขที่ 1690, และมุสลิม, ฮะดีษเลขที่ 1256) และในบางสายรายงานกล่าวว่า “เท่ากับการทำฮัจญ์ครั้งหนึ่งพร้อมกับฉัน” ท่านอิบนุอะร่อบีย์ได้กล่าวว่า “หะดีษอุมเราะฮ์บทนี้ศ่อฮีห์ มันเป็นความประเสริฐและความโปรดปรานที่มาจากอัลเลาะฮ์ อุมเราะฮ์นั้นได้รับตำแหน่งเท่ากับฮัจญ์โดยการรวมร่อมะฎอนเข้าไปด้วย(หมายถึงต้องทำในเดือนร่อมะฎอนด้วย)” ดังนั้น ผลบุญของการกระทำจึงเพิ่มขึ้นด้วยการเพิ่มความประเสริฐของช่วงเวลา หรือเจตนาที่แน่วแน่ หรือหัวใจที่มีอัลเลาะฮ์ตลอดเวลาของผู้ปฏิบัติ (ฟัตหุลบารีย์, เล่ม 3 หน้า 64-605)

- การทำให้คืนลัยละตุ้ลก้อดร์มีชีวิต

ท่านร่อซูลลุลเลาะฮ์ ศ็อลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า “ผู้ใดก็ตามที่ลุกขึ้นมา (ทำอิบาดะฮ์) ในคืนลัยละตุลก็อดร์ด้วยความศรัทธา (เชื่อในผลบุญที่ได้ระบุรายงานมา) และความมุ่งหวัง (เพื่ออัลเลาะฮ์ตะอาลาเท่านั้น) บาปของเขาที่เคยกระทำมาจะถูกอภัยโทษให้” (รายงานโดยอัลบุคอรีย์, ฮะดีษเลขที่ 1082) และเช่นเดียวกันท่านนะบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้เตือนถึงการขาดทุนอันใหญ่หลวงสำหรับผู้ที่ไม่ฉกฉวยความประเสริฐของค่ำคืนนี้ ท่านได้กล่าวว่า “แท้จริงเดือนนี้ได้มายังพวกท่านแล้ว และในมันนั้นมีค่ำคืนหนึ่งที่ดีกว่าหนึ่งพันเดือน ผู้ใดที่ถูกห้ามมัน แน่แท้เขาได้ถูกห้ามความดีงามทั้งหมด และไม่มีผู้ใดที่ถูกห้ามความดีงามของมัน นอกจากผู้ที่ถูกห้าม” (รายงานโดยอิบนุมาญะฮ์, สุนันอิบนุมาญะฮ์, เล่ม 1 หน้า 526)

- การปฏิบัตินะวาฟิล (อะมัลที่เป็นสุนัต) ให้มาก

แท้จริงการฏออะฮ์ในเดือนร่อมะฎอนนั้นมีความพิเศษ และผลบุญของมันนั้นก็เพิ่มเป็นเท่าทวีคูณ ท่านร่อซูลุลเลาะอ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมได้กล่าวว่า “ผู้ใดก็ตามที่แสวงหาความใกล้ชิดในเดือนร่อมะฎอน ด้วยประการหนึ่งจากประการต่างๆ ของความดี เขาก็เสมือนผู้ที่กระทำฟัรฎูในเดือนอื่นๆ จากร่อมะฎอน และผู้ใดก็ตามที่ปฏิบัติฟัรฎูหนึ่งในเดือนร่อมะฎอน เขาก็เสมือนกับผู้ที่ได้ปฏิบัติ 70 ฟัรฎูในเดือนอื่นๆ” (รายงานโดยอิบนุคุซัยมะฮ์, ซอฮิห์อิบนุคุซัยมะฮ์, เล่ม 3 หน้า 191)

และส่วนหนึ่งจากสุนัตนะวาฟิลนั้น ได้แก่ การซิเกรให้มาก เพราะการซิเกรนั้นจะช่วยให้หัวใจและอวัยวะต่างๆ มีนูรรัศมี (ผลักดันและชี้นำเข้าหาอัลเลาะฮ์และปฏิบัติอะมัลอิบาดะฮ์ต่อพระองค์)

- การเอียะติกาฟ

และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสิบวันสุดท้ายของร่อมะฎอน เพราะการเอียะติกาฟในช่วงเวลาดังกล่าวนั้นเป็นซุนนะฮ์มุอักกะดะฮ์(มุ่งเน้นให้กระทำ) ที่ท่านร่อซูลุลเลาะฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมได้เคยปฏิบัติไว้ มีรายงานจากอัลบุคอรีย์และมุสลิมว่า “แท้จริงท่านนะบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ทำเอียะติกาฟสิบวันสุดท้ายของร่อมะฎอนจนกระทั่งอัลเลาะฮ์ได้เอาชีวิตของท่านไป หลังจากนั้นบรรดาภรรยาของท่านก็ได้เจริญรอยตามท่าน” (รายงานโดยอัลบุคอรีย์, ฮะดีษเลขที่ 1922, และมุสลิม, ฮะดีษเลขที่ 1172)

กิตาบุศศิยาม, ดารุลอิฟตาอฺ อัลมิศรียะฮ
10 พ.ค. 2561  1528 ครั้ง
Click ดูภาพขยาย
Click ดูภาพขยาย
Click ดูภาพขยาย
Click ดูภาพขยาย
Click ดูภาพขยาย
Click ดูภาพขยาย
Click ดูภาพขยาย
Click ดูภาพขยาย



แสดงความคิดเห็น

Web Link สนง.ฯ

ผู้สนับสนุน สนง.ฯ
อ่าวนางปริ้นซ์วิลล์ รีสอร์ท
สมาคมสตรีมุสลิมจังหวัดกระบี่
สถานีกระจายเสียงสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดกระบี่
อินซานโพสต์ สื่อสร้างสรรค์ สร้

ข้อมูลร้านอาหาร
ข้อมูลเพิ่มเติม : www.thaihalal.info

Web Link
สมาคมสตรีมุสลิมจังหวัดกระบี่
อัฟยอด
สนง. คณะกรรมการอิสลาม กทม.
มัสยิดกระบี่
อิสลามแห่งประเทศไทย